ดอกรัก

ดอกรัก


ต้นรักเป็นพันธุ์ไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไปตามที่รกร้างว่างเปล่าริมทาง แม้แต่ริมทะเล ก็สามารถพบได้ เพราะต้นรักขึ้นง่าย ทนทาน บางครั้งจะเห็นเมล็ดรัก ซึ่งมีขนสีขาวเป็นพู่ยาวๆ ปลิวตามลมไปในที่ต่างๆ เมื่อตกลงในที่ซึ่งมีความชื้นพอสมควร จะงอกขึ้นเป็นต้นใหม่ได้ มีชื่อที่ใช้เรียกหลายชื่อ ได้แก่ รัก รักดอก หรือรักร้อยมาลัย เพราะคนไทยรู้จักดอกไม้ชนิดนี้มากที่สุดจากการนำมาร้อยเป็นอุบะพวงมาลัย 



รักมีถิ่นกำเนิดในเอเชียกลาง และอินเดีย ไม่ปรากฏหลักฐานว่า เข้ามาสู่เมืองไทยเมื่อใด เป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๒.๕ เมตร ใบใหญ่ ก้านสั้น มีขนนุ่ม และมีนวลขาวทั้งใบ ดอกมี ๒ สี คือ สีขาว และสีม่วง ออกดอกเป็น ช่อใหญ่ ค่อนข้างกลมที่ปลายกิ่ง และซอกใบ เมื่อดอกบาน กลีบดอก ๕ กลีบ จะแผ่ออกจากกันเป็นวง เห็นส่วนที่เป็นสัน ๕ สัน คล้ายมงกุฎอยู่ตรงกลาง ส่วนนี้เอง ที่นำมาใช้ร้อยมาลัย ผลรัก เป็นฝักรูปรี ปลายแหลมยาว ๕-๗ ซม. เมื่อแก่จะแตกและปล่อยเมล็ดเล็กๆ ที่มีขนเป็นพู่ ปลิวไปตามลม 
                       
ตามประเพณีไทย มักจะใช้ดอกรักร่วมกับดอกไม้อื่น ที่มีความหมายเป็นมงคล ในงานมงคลที่เกี่ยวเนื่องกับความรัก เช่น งานหมั้น และงานแต่งงาน โดยใช้ในขันหมากหมั้น ขันหมากแต่ง จัดพานรองรับน้ำสังข์ ร้อยเป็นมาลัยบ่าวสาว และโปรยบนที่นอนในพิธีปูที่นอน เป็นต้น 


ในวรรณคดีมักกล่าวถึงต้นรัก หมายถึง ความรัก ความพิศวาส ระหว่างชายหญิง 

รักมีสรรพคุณทางสมุนไพร โดยใช้เปลือก ราก เป็นยารักษาโรคบิด ขับเหงื่อ และทำให้อาเจียน ยางมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง หรือขับพยาธิ ใช้ภายนอกเป็นยารักษากลากเกลื้อน แต่ต้องระมัดระวัง เพราะถ้ายางรักซึ่งเป็นสีขาว ขุ่นนั้นถูกผิวหนัง อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง คัน ปวดแสบปวดร้อน หรืออักเสบบวมแดง จึง ควรใช้ครีมทาผิวหรือกลีเซอรีนทาบางๆ ก่อนที่ จะสัมผัสดอกรัก 

ต้นรัก หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้นรักถึงไม่ควรปลูกไว้ในบ้านทั้งๆ ที่ชื่อก็ฟังน่าจะไปในทิศทางที่ดี แต่ตามความเชื่อโบราณเชื่อว่า ต้นรักจะทำให้ความรักยุ่งยากขึ้น และกลายเป็นคนมากรัก นอกจากนี้ ยางของต้นรัก หากไปสัมผัสโดนเข้าอาจเป็นอันตรายต่อผิวหนังได้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น