ดอกมะลิ

ดอกมะลิ

 การปลูก
      ควรจะปลูกให้มะลิได้รับแสงแดดเต็มที่ เพื่อดอกจะได้ดกตามต้องการ  นิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฏาคม  มะลิชอบดินร่วนซุยมีการระบายน้ำดี มีอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารสมบูรณ์  หากจะปลูกมะลิให้มีอายุยืนยาว ควรขุดหลุมลึก กว้าง และยาวด้านละ 50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอก ใบไม้ผุหรือปุ๋ยหมัก และวัสดุอื่น ๆ ในอัตราส่วน 1:1:1 พร้อมกับเติมปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) และปุ๋ยผสมสูตร 15-15-15 อย่างละ 1 กำมือ คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วใส่กลับลงไปในหลุมใหม่ ทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน จึงนำเอาต้นมะลิที่ซื้อมา หรือได้จากการปักชำลงปลูก

การดูแลรักษา                                                                                                                             1.  การกำจัดวัชพืช ปกติชาวสวนนิยมใช้กรัมม๊อกโซนฉีดตามร่องปลูกทุกเดือน โดยไม่ให้โดนต้นมะลิ            
2.  การใส่ปุ๋ย ให้ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตราการใส่ปุ๋ยขึ้นอยู่กับขนาดของทรงพุ่ม ใส่เดือนละครั้ง โดยการหว่านและรดน้ำตามด้วย
3.  การตัดแต่ง หลังจากปลูกมะลิไปนาน ๆ แล้วมะลิจะแตกกิ่งก้านสาขามากมาย ควรตัดแต่ทรงพุ่มให้โปร่ง รวมทั้งตัดกิ่งที่แห้งและตายออกด้วย จะช่วยให้มะลิมีทรงพุ่มสวยงาม โรคและแมลงลดน้อยลง มะลิมีอายุยืนยาวขึ้น ให้ดอกมากขึ้น พร้อมทั้ง จะช่วยให้เกษตรกรมีความสะดวกในการปฏิบัติงานอีกด้วย
4.  การให้น้ำ มะลิจะต้องการน้ำพอสมควร หากดินยังแฉะอยู่ไม่ควรรดน้ำ ควรรอจนกว่าดินจะแห้งหมาด ๆ เสียก่อน ทั้งนี้อาจให้น้ำวันละ 1-2 ครั้งหรืออาทิตย์ละครั้งก็ได้ขึ้นอยู่กับสภาพของดิน โดยให้รดน้ำในตอนเช้า แต่ระวังอย่าให้น้ำท่วม หรือมีน้ำขังอยู่ในแปลงนาน ๆ เพราะจะทำให้ต้นมะลิแคระแกร็น ใบเหลือง และตายได้
       การที่ใช้ดอกมะลิเป็นสื่อกลางในการแสดงความรักต่อแม่นั้น เพราะดอกมะลิไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด มันก็ยังคงมีสีขาวซึ่งแสดงถึงความขาวสะอาดบริสุทธิ์ ดอกมะลิจึงถือว่าเป็นดอกไม้มงคลชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมปลูกไว้ประจำบ้าน คนไทยสมัยโบราณเชื่อว่าการปลูกต้นมะลิเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่บ้าน ควรปลูกในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และจากความเชื่อที่ว่าถ้าต้องการประโยชน์ทั่วไปจากดอกก็ควรปลูกต้นไม้นั้นในวันพุธ ดังนั้นการปลูกต้นมะลิจึงนิยมปลูกในวันพุธ และอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นประการสำคัญเพื่อความเป็นสิริมงคลคือ ผู้ปลูกควรเป็นสตรีสูงอายุ เช่น คุณย่า คุณยาย คุณแม่ เพราะท่านเหล่านี้เป็นผู้ที่มีแต่คุณงามความดีและเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง นอกจากนี้ยังเป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทั่วไป ดอกมะลิมีหลายพันธุ์ ทั้งชนิดที่มีกลีบดอกชั้นเดียวและหลายชั้น ทั้งที่เป็นดอกเดี่ยวและดอกช่อ แต่ที่คุ้นตากันเห็นจะเป็นดอกมะลิที่มีกลีบชั้นเดียว เรียกว่า มะลิลา นอกจากนี้ยังมีมะลิซ้อน มะลิวัลย์ มะลิพวง มะลิฉัตร พุทธชาติ เป็นต้น แต่พันธุ์ที่ส่งเสริมและนิยมปลูกคือ มะลิลาพันธุ์แม่กลอง พันธุ์ราษฎร์บูรณะ และพันธุ์ชุมพร
         การปลูกมะลิไว้ประจำบ้านนั้นเชื่อกันว่าจะทำให้บ้านั้นมีความสงบสุข ผู้คนในบ้านจะดำรงตนเป็นคนอยู่ในศีลในธรรม คนในบ้านจะมีแต่ความบริสุทธิ์ เอื้ออาทรต่อกัน มีแต่ความรักความคิดถึงให้แก่กันและกันทั้งต่อบุคคลในบ้านและบุคคลอื่นด้วย และยังเกื้อหนุนให้มีความกตัญญูต่อบุพการีและผู้มีพระคุณด้วย จากความเป็นมงคลของดอกมะลินี่เองจึงได้ถูกนำมาเป็นดอกไม้ประจำวันแม่แห่งชาติ ซึ่งหมายถึงความรักและความกตัญญูของลูกต่อแม่และผู้มีพระคุณ นอกจากดอกมะลิจะเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แสดงความรักต่อแม่แล้ว จะสังเกตเห็นได้ว่า คนไทยนิยมใช้ดอกมะลิในการบูชาพระด้วย อันเนื่องมาจากความสะอาดบริสุทธิ์ 
        ดอกมะลิและต้นมะลินี้ ใช่ว่าจะเป็นเพียงไม้มงคลที่ให้เฉพาะดอกมะลิที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวและความงามอันสะอาด บริสุทธิ์ แล้วนำมาร้อยมาลัย หรือสกัดทำน้ำมันหอมระเหยเท่านั้น แต่ยังเป็นพืชสมุนไพรที่เราสามารถนำส่วนต่างๆทั้งดอกสด ดอกแห้ง ใบ ลำต้น ราก มาใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมาย เช่น ดอกสด ใช้รักษาโรคตาเจ็บ แก้ไข้ ตัวร้อน เป็นหวัด ดอกแห้งใช้ปรุงเป็นสารแต่งกลิ่น ใบสดช่วยรักษาแผลพุพอง ลำต้น ช่วยในการขับเสมหะและโลหิต ราก นำมาฝนใช้แก้ปวด รักษาโรคร้อนใน เป็นต้น
       จะเห็นได้ว่าดอกมะลิไม่ใช่เป็นเพียงดอกไม้ธรรมดาที่ใช้แสดงถึงความบริสุทธิ์ ความรัก ความกตัญญูต่อแม่และผู้มีพระคุณเท่านั้น แต่ยังเป็นพืชสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์มากมายที่เราไม่ควรมองข้ามและควรใส่ใจในคุณค่าของพืชชนิดนี้ด้วย    

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : อาจารย์ปานเสก อาทรธุระสุข                                                                                                                    http://www.learners.in.th/blogs/posts/348558?locale=en       
                                     http://www.oknation.net/blog/horti-asia/2012/11/14/entry-1               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น